วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2554

จุดเปลี่ยน 'แฟชั่นชาย' ท้าทายที่การสร้าง 'เซ็กเมนต์'

การช็อปปิ้งเลือกซื้อเสื้อผ้าไม่ได้เป็นกิจกรรมโปรดปรานที่ สงวนไว้เฉพาะสาว ๆ อีกต่อไป

ด้วยไลฟ์สไตล์ของหนุ่มยุคใหม่ที่พิถีพิถันกับภาพลักษณ์ภายนอกมากขึ้น โดยเฉพาะหนุ่มออฟฟิศ นักเรียนนอก หรือระดับผู้บริหาร เสื้อผ้าผู้ชายจึงมีช่องการเติบโตได้อีกมาก

ที่น่าสนใจคือ ทิศทางของเสื้อผ้าชาย วันนี้ ไม่ได้แข่งกันที่โปรโมชั่นหรือรูปแบบเช่นเดียวกับเสื้อผ้าผู้หญิง แต่ให้น้ำหนักกับการสร้างเซ็กเมนต์ใหม่ ๆ

"วิฑูรย์ ตติยมณีกุล" กรรมการผู้จัดการ สตาร์ แฟชั่น (2551) ผู้จัดจำหน่ายเสื้อผ้าแบรนด์ฮาร์ซาร์ด, การ์แบง, ไฟโด้ ดิโด้, จีป ฯลฯ ฉายภาพให้ฟังว่า เดิมเสื้อผ้าชายจะแบ่งเซ็กเมนต์ตามอายุ แต่ปัจจุบันแบ่งเซ็กเมนต์ตามไลฟ์สไตล์ ทำให้มีเซ็กเมนต์ใหม่เพิ่มขึ้น เช่น เสื้อผ้าทำงานกลางวันและกลางคืน เสื้อผ้าลำลองทั้งใส่วันหยุด ใส่ไปทะเล เดินป่า แนวเมโทรเซ็กชวล ฯลฯ

ยิ่งผู้ชายแต่งตัวลำลองมากขึ้นเท่าไร แฟชั่นก็จะเข้าถึงผู้ชายได้มากเท่านั้น

ด้าน "สุชาติ ลายลักษณ์ศิริ" รองผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ 2 "ธนูลักษณ์" ผู้ผลิตสินค้าแฟชั่นในเครือสหพัฒน์ อาทิ แอร์โรว์, กี ลาโรช ฯลฯ แสดงความเห็นว่า เซ็กเมนต์เสื้อผ้าชายที่มีแนวโน้มเติบโตดีสุด คือ "ลำลอง" ตามเทรนด์ที่เริ่มรีแลกซ์ มากขึ้น นอกจากเสื้อผ้าแนวลำลองก็ยังมีสไตล์ "เมโทรเซ็กชวล" ซึ่งยังไม่แพร่หลายในบ้านเรามากนัก

ขณะที่เซ็กเมนต์เสื้อผ้าทำงานก็ยัง แข่งขันสูง แต่เน้นแข่งที่คุณภาพเนื้อผ้า และเส้นใย รวมถึงสินค้าลิมิเต็ดเอดิชั่น เพื่อเพิ่มมูลค่าต่อชิ้น

"นักแฟชั่นและนักการตลาดพยายามผลักดันให้ผู้ชายกล้าแต่งตัว แม้แต่กางเกงในยังออกเป็นซีซั่น ทั้งนี้ เพื่อให้แฟชั่นเข้าไปอยู่ในไลฟ์สไตล์ของผู้ชาย ประกอบกับตัวลูกค้ายุคใหม่เองก็มีค่าใช้จ่ายเรื่องการแต่งกายมากกว่าคนรุ่นเก่า เพราะนอกจากจะซื้อเสื้อผ้าก็ยังต้องซื้อพวกเข็มขัด หมวก สร้อย กระเป๋า ฯลฯ ทำให้วอลุ่มตลาดแฟชั่นชายเติบโตได้มาก"

เขายังวิเคราะห์ด้วยว่า แนวทางการทำตลาดของเสื้อผ้าชายจากนี้ ต้องใช้งบฯ เพื่อเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในส่วนของซีเอสอาร์ เพื่อให้ลูกค้าภาคภูมิใจกับแบรนด์ และใหรู้สึกว่าได้รับเบเนฟิตที่คุ้มค่า ป้องกันไม่ให้สวิตช์ไปหาแบรนด์อื่น

นอกจากนี้ ยังมีความเคลื่อนไหวของ 2 ค่ายใหญ่ ทั้งซีเอ็มจีและเดอะมอลล์ที่มีการเปิดตัวแบรนด์ใหม่พร้อม ๆ กัน ขณะที่ซีเอ็มจีหยิบเอาแบรนด "เอสแฟรŒ" ที่แข็งแกร่งอยแล‰วมาแตกเป็นแบรนด์ ใหม่ ส่วนค่ายเดอะมอลล์ก็จับมือกับดีไซเนอร์ดังเกรฮาวด์ปั้นแบรนด์ใหม่ขึ้นมาโดยเฉพาะ

"วินัย อินทิราวรนนท์" ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด ผลิตภัณฑ์เอสแฟร์ บิสซิเนส และเอสแฟร์ แคชวล บริษัท เซ็นทรัล เทรดดิ้ง จำกัด ในเครือเซ็นทรัลมาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ป (ซีเอ็มจี) กล่าวว่า การแตกซับแบรนด์ใหม่ที่ชื่อว่า โฟร์ บาย โฟร์ แมน บาย เอสแฟร์ (4 x 4 man by S'FARE) นี้ได้ดึงดีไซเนอร์รุ่นใหม่ "ใหม่-ภัทรศรัณย์ ศรีเลื่อนสร้อย" มาเป็นครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ เพื่อขยายฐานลูกค้าคนรุ่นใหม่

ขณะเดียวกันก็รองรับพฤติกรรมการแต่งตัวของผู้ชายที่มีความเป็นแฟชั่นมากขึ้น และวางโพซิชันนิ่งแบรนด์ใกล้เคียงกับเกรฮาวด์และแดปเปอร์

ด้านเดอะมอลล์กรุ๊ปเปิดตัว "โปรเจ็กต์ 1.1 บาย เกรฮาวด์" จับกลุ่มคนทำงาน ด้วยราคาไม่แพง

แม้มูลค่าตลาดแฟชั่นชายจะไม่วิ่งไล่ตามฝั่งผู้หญิงในเร็ววัน แต่สีสันและกลยุทธ์ของตลาดเสื้อผ้าชายที่ไม่ยึดติดอยู่แค่ตัวสินค้า น่าจะทำให้การแข่งขันหลังจากนี้เข้มข้นไม่แพ้กัน


Read more: จุดเปลี่ยน 'แฟชั่นชาย' ท้าทายที่การสร้าง 'เซ็กเมนต์' | การตลาด | WiseKnow.Com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น